Posted by: varie | พฤหัส08032007

ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย: คำตอบง่ายๆ ที่ไม่ต้องค้นหา

 
1. ความไม่มั่นคงของความรู้เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย
จากการที่ได้ศึกษาแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยที่ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่มแนวคิดได้แก่ กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน, เทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน, ตอนใต้ของจีน ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแคว้นอัสสัมของอินเดีย, กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน และกลุ่มที่เชื่อว่าอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อินโดจีน หรือคาบสมุทรมลายู แล้วค่อยๆกระจายไปทางตะวันตก ทางใต้ของจีนและอินโดจีน แต่ละแนวคิด ก็มีเหตุผลและหลักฐานที่แตกต่างกันไป ทั้งหลักฐานทางเอกสารโบราณ ทางภาษา ทางวัฒนธรรม ทางโบราณคดี และทางพันธุกรรม ต่างกลุ่มแนวคิดต่างก็มีความขัดแย้ง แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นก็ล้มล้างข้อสันนิษฐานของแนวคิดที่มีอยู่เดิมเรื่อยๆ แนวคิดเดิมที่ถูกตรวจสอบและมีหลักฐานอื่นมายืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ก็มีคนเชื่อถือน้อยลงหรือไม่เป็นที่ยอมรับไปเลย ซึ่งรับประกันไม่ได้ว่า แนวความคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน จะถูกล้มล้างจนหมดความน่าเชื่อถือไปในอนาคตเมื่อมีแนวคิดใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ 
จริงอยู่ว่าแต่ละกลุ่มแนวคิดก็มีเอกลักษณ์และข้อขัดแย้งที่ต่างจากแนวคิดอื่น แต่แนวคิดก็คือแนวคิด ที่เกิดจากการได้ศึกษา ค้นคว้า ยืนยัน พิสูจน์ โดยกลุ่มคนที่ได้ยึดมั่น มุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้ข้อสันนิษฐานของตนเป็นที่ยอมรับ กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีทั้งที่เสียชีวิตแล้วในปัจจุบัน ที่ถูกล้มล้าง หันไปยอมรับแนวคิดอื่น หรืออาจจะแตกไปเสนอแนวคิดใหม่ๆที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงเสียเองก็ได้ แต่เมื่อแนวคิดหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วมีความน่าสนใจเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง ก็จะถูกบันทึกไว้ให้เป็นที่ศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปในรุ่นหลัง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย
 
2.
ปัจจุบันดูเหมือนว่าความรู้เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยนั้น ยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ไม่มีคำตอบที่แท้จริง คือก่อนที่จะมีเส้นกั้นพรมแดนประเทศแบบในปัจจุบัน สังคมของผู้คนที่อาศัยในบริเวณที่เป็นประเทศไทย ก็ยังเป็นอิสระไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่พรมแดนเดียว ชนชาติต่างๆมีการติดต่อหรือย้ายถิ่นกันอย่างอิสระเป็นปกติอยู่แล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนประเทศไทยซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ก็มีชนชาติต่างๆมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ไม่ขาด บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยกลุ่มชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ เกิดการแลกเปลี่ยนผสมปนเปกันระหว่างวัฒนธรรมและเชื้อชาติตามมา ทำให้หาเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์ได้ยาก [แล้วก็จะมีชาติต่างๆตามมาขุดค้นแล้วอ้างว่าเป็นชนชาตินั้นชนชาตินี้] ในปัจจุบันเองประเทศไทยก็ยังคงมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมากมาย และแม้คนที่เป็นคนไทยในปัจจุบัน ก็ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และรูปร่างหน้าตาก็ยังแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
แล้วการที่เราจะมาตามหาว่าชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดจากที่ใดแน่นอนนั้น ตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เลย คำว่า “ไทย” ก็เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเรียกคนไทยภายหลัง คนไทยจำนวนหลายสิบล้านทั่วประเทศไม่สามารถจะมีบรรพบุรุษมาจากแหล่งเดียวกันแล้วกระจายไปยังผืนแผ่นดินกว้างใหญ่เพียงแค่เผ่าพันธุ์เดียว ไม่ว่าคนกลุ่มไหน จากที่ใด เชื้อชาติใด เมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยแล้วก็สร้างบ้านเมือง สร้างวัฒนธรรม เป็นบรรพบุรุษของไทยได้ทั้งนั้น ส่วนเชื้อชาติอื่นที่เข้ามาทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าที่มาจากจีน จากอินเดีย เป็นมอญ หรือแขกเปอร์เซีย หรือที่ต่างๆ มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึมซับความเป็นไทยมาช้านาน พวกเขาก็เป็นคนไทยได้ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีความจำเป็น ที่จะต้องสรุปว่า ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใดแน่นอน เพราะถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนอยู่แล้ว แต่เมื่อคนเหล่านั้นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันและสร้างวัฒนธรรมขึ้นในดินแดนประเทศไทย มีศิลปะ ภาษาไทย จารีตประเพณี การใช้ชีวิตแบบไทยๆ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่รวมสังคมคนไทยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว จุดนั้นเอง ที่เป็นกำเนิดของคนไทยอย่างแท้จริง
+ และหากจะมองกำเนิดของคนไทยที่จุดนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาสถานที่อีกต่อไป คำถามคือ เมื่อไรที่ “ไทย” กำเนิดขึ้นต่างหาก +
 
ดังนั้น แทนที่จะมุ่งค้นหากันว่าชนชาติไทยจริงๆ มีเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากที่ใด เราควรจะคำนึงถึงการทำให้คนที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เป็นชาติไทยด้วยกันอยู่ปัจจุบันนี้ เกิดความสำนึกรักหวงแหนถิ่นที่อยู่ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงความเป็นไทยไปจนถึงชนรุ่นหลัง เราทุกๆคนอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยเดียวกัน มีพ่อหลวงองค์เดียวกัน รักชาติ รักประเทศไทย แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพียงแค่วันนี้คนไทยทุกคนรักกัน สามัคคีกัน ก็ทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง และเป็นปึกแผ่นได้ ไม่ว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกวันนี้ เราทุกคนก็คือคนไทย
 
 
กระทู้ “ประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่ใช่-ประวัติของเชื้อชาติ”. (2547). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=5562
ข้อคิดเห็น5 จากกระทู้ “แคว้นอู๋ แคว้นฉู่ และแคว้นเยว่ เป็นแคว้นของคนตระกูลไท?”.(2547). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก http://av.sac.or.th/webboard/info/Question.php?ID=957
ข้อมูลหนังสือ “คนไทยมาจากไหน”. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก http://202.28.82.171/arit/content/book_detail.php?book_id=3073
ตรงใจ หุตางกูร. (2547). ข้อคิดเห็น1 จากกระทู้ “แคว้นอู๋ แคว้นฉู่ และแคว้นเยว่ เป็นแคว้นของคนตระกูลไท?”. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก http://av.sac.or.th/webboard/info/Question.php?ID=957
แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก  http://xchange.teenee.com/index.php?showtopic=30776
บดินทร์ กินาวงศ์ และคณะ. (2546). ประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย-เชียงแสน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : มูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (ม.ป.ป.). คนไทยมาจากไหน?: “อักษรไทย”สร้างตัวตน ความเป็น”คนไทย”. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2550, จาก http://www.social.nu.ac.th/boards/aspboard_Question.asp?GID=110
(บทความวิชา อารยธรรมไทย ปี1 เทอม2 นิเทศศาสตร์ EAU)
 

Responses

  1. ในที่สุดชั้นก้อรู้ว่าคนไทยอย่างชั้นมาจากไหน เป็นสเปซที่มีสาระมากเจ้าค่ะ 

  2. พี่ทำทีซีด หัวข้อเรื่อการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยเปนการตั้งคำถามคล้ายๆอย่างนี่แหละค่ะ

  3. อ่ะจร้าาาา!!!ด้ายข้อมูลไปอภิปรายหน้าห้องแย้ววว อิอิ

  4. ขอบคุณที่ให้ความรู้

  5. จะเอาไปทำข้อสอบอ่ะค่ะ น้อยจังอยากได้ชื่อของคนที่วิจัยด้วย

  6. …………


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่